ประเด็นร้อน
กลต.ปิดฉากฉาวหุ้นGL แต่งงบ-ยักยอก-ฟอกเงิน หุ้นในญี่ปุ่นที่เกี่ยวพันกับ
โดย ACT โพสเมื่อ Oct 17,2017
- - สำนักข่าวข่าวหุ้น - -
ก.ล.ต.เชือด “มิทซึจิ โคโนชิตะ” ผู้บริหาร “กรุ๊ปลีส” (GL) ข้อหาเบียดบังทรัพย์สินบริษัท แต่งบัญชี ฟอกเงิน ต่อ “ดีเอสไอ” เผยโทษติดคุก 10 ปี ปรับเงินอีกเพียบ ด้านบริษัทและเจ้าตัวยังไม่ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับร่อนหนังสือแถอีก อ้างข้อมูล ก.ล.ต.คลาดเคลื่อน ส่วนผู้บริหาร ตลท.แนะเป็นนัย หุ้นตัวไหนกำไรผิดธรรมชาติอย่าเข้าไปยุ่ง โบรกฯ บอกให้เลี่ยงลงทุนหากถูกปลด SP จับตา ก.ล.ต.มีเชือดเพิ่ม จับตาธุรกรรมที่ศรีลังกาไม่น่ารอด ขณะที่หุ้นในญี่ปุ่นพันธมิตร GL พากันร่วงหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16 ต.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวโทษ นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ผู้บริหารบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีทุจริต เบียดบังทรัพย์สินของบริษัท และทำบัญชีไม่ถูกต้อง โดยทำธุรกรรมอำพรางผ่านบริษัทที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศหลายแห่ง เพื่อให้ผลประกอบการของ GL สูงเกินความจริง
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากในงบการเงินงวดปี 59 ของ GL ที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับธุรกรรมการให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้ในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ผลประกอบการของ GL เพิ่มสูงขึ้น สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายมิทซึจิให้บริษัท กรุ๊ปลีส โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ GLH ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GL ที่ประเทศสิงคโปร์ ปล่อยกู้แก่บริษัทในต่างประเทศหลายแห่ง
โดยพบหลักฐานว่า GLH ให้กู้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไซปรัส 4 แห่ง และสิงคโปร์ 1 แห่ง เป็นเงินให้กู้รวมประมาณ 54 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีนายมิทซึจิ เป็นผู้ควบคุมและเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง โดยเมื่อบริษัททั้ง 5 แห่งได้รับเงินกู้จาก GLH ไปแล้ว ได้นำไปหมุนเวียนในกลุ่มบริษัทผู้กู้เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่ GLH เป็นงวดๆ ซึ่งยอดดอกเบี้ยถูกนำไปรวมเป็นรายได้ในงบการเงิน อันเป็นการแต่งบัญชีและสร้างผลประกอบการของ GL ให้สูงเกินจริง
ซึ่งการกระทำของนายมิทซึจิข้างต้นเป็นการทำธุรกรรมอำพราง การยักยอก ยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ตรงต่อความเป็นจริง รวมถึงบอกกล่าว เผยแพร่ข้อความเท็จ ส่งผลกระทบต่อราคาหรือการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ ตลอดจนขัดแย้งกับข้อมูลที่ GL ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 13 มี.ค. 60
รวมถึงการแถลงข่าวของนายมิทซึจิ ในวันที่ 14 มี.ค. 60 ที่ยืนยันว่า บริษัทผู้กู้ในต่างประเทศไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับตนเอง จึงเข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 312 และ มาตรา 313 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 ซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำการฝ่าฝืนมาตรานั้นๆ แล้วแต่กรณี
แต่ทั้งนี้ค่าปรับดังกล่าว ต้องไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 240 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2559 สำนักงาน ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษนายมิทซึจิ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ การถูกกล่าวโทษทำให้นายมิตซึจิเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศสำนักงาน ก.ล.ต. จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับกรณี GL ด้วย
การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์ และอาจเป็นการยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นความผิดมูลฐานแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงาน ก.ล.ต. จึงแจ้งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม การกล่าวโทษของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ
ขณะที่การดำเนินคดีนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.ได้รับความช่วยเหลือจาก Cyprus Securities and Exchange Commission ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการเอาผิดข้างต้น
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ได้ขึ้นเครื่องหมาย H หลักทรัพย์ GL รอบเช้า และขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อพักการซื้อขายกว่า 1 รอบในภาคบ่าย หลังจาก GL ยังไม่มีการชี้แจงเกี่ยวกับผลกระทบกลับมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายสันติ กีระนันทน์รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. กล่าวว่า กรณีของ GL ตลท. จะหยุดพักการซื้อขายที่มากกว่า 1 ช่วงเวลาการซื้อขาย (SP) จนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับสำนักงาน ก.ล.ต. ประสานงานกันอยู่ตลอด
ทั้งนี้ หลักทรัพย์ หรือหุ้นที่นักลงทุนควรหลีกเลี่ยง ดูได้จาก 1.งบกำไรขาดทุน เพราะถ้าเป็นบริษัทที่ความสามารถในการทำกำไรไม่ดี โดยนักลงทุนต้องดูกำไรสุทธิ กำไรจากการดำเนินงาน รวมถึงกำไรขั้นต้นด้วย ซึ่งถ้ากำไรทั้ง 3 ส่วนนี้ทำได้ดี ก็ถือว่าเป็นบริษัทที่ดี แต่ถ้าบางช่วงมีการขาดทุน โดยเฉพาะขาดทุนจากผลการดำเนินงาน ถือว่าเป็นปัญหาหนัก แต่ถ้าขาดทุนสุทธิ แต่ผลการดำเนินงานยังดี ไม่ได้ขาดทุน ยังถือว่าไม่น่ากังวลมากนัก
2.ฐานะการเงิน ดูได้จากงบแสดงฐานะการเงิน โดยจะแสดงโครงสร้างแหล่งที่มาของเงินทุน บริษัทที่มีภาระหนี้สินมาก อาจจะทำให้การขยายตัวในระยะสั้นดี แต่ระยะยาวอาจมีข้อจำกัด ขณะเดียวกันมีการแสดงถึงโครงสร้างการลงทุน โดยบริษัทที่กล้าได้กล้าเสียมากเกินไป เก็บสภาพคล่องไว้น้อย ลงทุนในทรัพย์สินที่ใช้หารายได้เยอะเกินไป ในยามที่ตลาดซบเซาความสามารถในการชำระหนี้ก็จะทำได้น้อย เพราะสภาพคล่องไม่มี เพราะฉะนั้น บริษัทที่ดีไม่ว่าจะด้านซ้ายหรือขวาของงบการเงินต้องบาลานซ์กันอย่างดี
และ 3.ต้องติดตามข่าวสาร โดยตลท. จะรายงานข่าวสารผ่านหน้าเว็บไซต์ รวมถึงถ้าบริษัทใดมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ก็จะสอบถามไปยังบริษัทนั้นๆ ให้ชี้แจงเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชนต่อไป แต่ถ้าบริษัทใดที่เปิดเผยข้อมูลแล้ว แต่ความสมเหตุสมผลของข้อมูลยังไม่ชัดเจน ให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทนั้นๆ แล้วไปเลือกลงทุนในบริษัทอื่น ซึ่งมีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เลือกถึง 675 หลักทรัพย์ โดยจนถึงปลายปีน่าจะมีให้เลือกถึง 690 หลักทรัพย์
ทั้งนี้ บริษัทที่เปิดเผยข้อมูลแล้ว มีความสอดคล้องของข้อมูลน้อย มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น โดยนักลงทุนไม่จำเป็นต้องลงทุนในหลายบริษัท แต่ให้เลือกลงทุนบริษัทที่สนใจ และมีความรู้ในข้อมูลของบริษัทนั้นๆ เช่น เข้าใจในธุรกิจ รู้จักอุตสาหกรรม เพียง 4-5 บริษัทก็เพียงพอ
นางสาวศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณี ก.ล.ต.กล่าวโทษ ผู้บริหาร GL ต่อ DSI ถือเป็นปัจจัยลบร้ายแรงที่ส่งผลต่อ GL โดยหลังจากนี้ GL ต้องดำเนินการชี้แจงข้อมูลนโยบายการทำงานที่เกี่ยวข้องต่อกรณีที่ถูกกล่าวโทษ และหากไม่ชี้แจงจะส่งผลเชิงลบต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าหากเปิดให้มีการซื้อขาย ราคาหุ้นจะลดลงอย่างแน่นอน
ส่วนการประเมินมูลค่าหุ้นและการเติบโตของธุรกิจยังไม่สามารถประเมินได้ ต้องรอความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวก่อน
ส่วนนักวิเคราะห์รายอื่นๆ ต่างกล่าวเช่นกันว่า หากหุ้น GL ถูกปลด SP แนะนำให้เลี่ยงลงทุน เพราะยังมีบางธุรกรรมที่เสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบเพิ่ม เช่น การเข้าลงทุนที่ประเทศศรีลังกา
ทางด้านนายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานคณะกรรมการบริหาร GLกล่าวชี้แจงว่าข้อกล่าวหาของสำนักงาน ก.ล.ต. อาจจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยฝ่ายบริหารของGLยังคงเชื่อมั่นในความถูกต้องของตัวเลขและข้อมูลต่างๆ ในงบดุลของบริษัทฯ ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารยังคงมีความมั่นใจในศักยภาพการดำเนินธุรกิจดิจิทัลไฟแนนซ์และการขยายธุรกิจของGLต่อเนื่องต่อไป ถึงแม้ว่าขณะนี้ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งกรรมการและตำแหน่งอื่นๆ ในบริษัทฯ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อกล่าวหาของสำนักงาน ก.ล.ต.
นายมิทซึจิ โคโนชิตะ อดีตประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารGLกล่าวชี้แจงปฏิเสธข้อกล่าวหาของสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและยืนยันว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อแก้ข้อกล่าวหาต่างๆและยืนยันความถูกต้องของการจัดทำงบการเงิน โดยปัจจุบันคณะผู้บริหารของGLอยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลต่างๆเพื่อดำเนินการชี้แจงข้อกล่าวหา ในขณะเดียวกันคณะกรรมการ (บอร์ด) ของGLมีกำหนดการประชุมในวันพุธที่18ต.ค.นี้ เพื่อคัดเลือกประธานกรรมการคนใหม่มาทำหน้าที่ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หุ้นที่มีความเกี่ยวพันกับ GL และจดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น ต่างปรับลงกันถ้วนหน้า เช่น หุ้น SHOWA ปิดตลาด 114.00 เยน ลดลง 17.99% หุ้น Wedge Holdings ปิดตลาด 544 เยน ลดลง 15.53% และ J Trust ปิดตลาด 867 เยน ร่วงลง 16.39%
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
WebSite : http://www.anticorruption.in.th